ประวัติโรงเรียน
กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้อนุมัติให้เปิดโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ชัยนาท ขึ้นประจำเขตการศึกษาที่ 6 ณ บ้านเชียร ตำบลธรรมามูล อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาทในวันที่ 28 พฤษภาคม 2505 เป็นต้นมา โดยมี ฯพณฯ ม.ล. ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการขณะนั้นเป็นผู้ลงนาม ดังสรุปประกาศ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดังต่อไปนี้
“ด้วยกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาเห็นสมควรเปิดโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ขึ้นที่จังหวัดชัยนาท เพื่อรับเด็กที่มีอุปสรรคทางการศึกษา เนื่องจากกำพร้าบิดามารดา ผู้ปกครองที่มีฐานะยากจนหรืออยู่ห่างไกลการคมนาคม ให้เข้าศึกษาตามพระราชบัญญัติประถมศึกษา จึงให้เปิดโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ที่อำเภอชัยนาท จังหวัดชัยนาท โดยให้ชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ชัยนาท” สังกัดกองการศึกษาพิเศษ กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มีสถานภาพเป็นโรงเรียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2505 เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2505”
โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ชัยนาทจัดตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 6 ของการจัดตั้งโรงเรียนประเภทศึกษาสงเคราะห์ ในปีแรกของการเปิดเรียนนั้นกระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติงบประมาณเพื่อสร้างอาคารเรือนนอน โรงอาหาร บ้านพักครู บ้านพักภารโรง ส้วม อย่างละ 1 หลัง คิดเป็นเงินทั้งสิน 2,560 บาท ต่อมามูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์มีความประสงค์ที่จะรับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ชัยนาทเป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา โดยให้เข้าอยู่ในการอุปถัมภ์มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการนี้กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศเปลี่ยนชื่อโรงเรียนจากโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ชัยนาทเป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 46 จังหวัดชัยนาท สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ณ วันที่ 30 พฤษภาคม พุทธศักราช 2556
ปัจจุบันโรงเรียนมีพื้นที่ 154 ไร่ 1 งาน 55 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ ห่างจากตัวจังหวัดชัยนาทประมาณ 12 กิโลเมตร เปิดรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดอ่างทอง , จังหวัดอุทัยธานี , จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดชัยนาท จังหวัดนครสรรค์(เขตพื้นที่การศึกษาเขต 1และ2) โดยรับนักเรียนที่ผู้ปกครองประสบปัญหา ตามที่กระทรวงศึกษาธิการดำเนินตามประกาศการจัดตั้งโรงเรียนข้างต้น
ทิศที่ตั้งอาณาเขต
ทิศเหนือ จดกับ เขาบ้านกลำ
ทิศใต้ จดกับ ทุ่งนาของชุมชน
ทิศตะวันออก จดกับ ค่ายลูกเสือเจ้าสามพระยา วัดสร้อยสังข์สถิตย์ และหมู่บ้านเชียร
ทิศตะวันตก จดกับ ทุ่งนาของชุมชน
สัญลักษณ์ของโรงเรียน
ตราโรงเรียน: เป็นตราพระมงกุฎเปล่งรัศมีครอบรัชกาลที่ 9 โดยโรงเรียนได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้ตราของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์
ในพระบรมราชูปถัมภ์โดยอนุโลมโดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นองค์ชนูปถัมภ์ของโรงเรียน
อักษรย่อของโรงเรียน : “ร.ป.ค. 46”(ร- จุด- ป -จุด- ค- จุด-สี่-สิบ-หก)
วิสัยทัศน์ : บริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล ปฏิบัติงานแบบครูมืออาชีพ พัฒนานักเรียน
ให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน โดยประสานงานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย
กลยุทธ์ : 1. พัฒนาการบริหารการจัดการ 2. พัฒนาอาคารสถานที่สภาพแวดล้อม 3. พัฒนาคุณภาพครูและบุคลากร
4. การพัฒนาคุณภาพนักเรียน 5. พัฒนาการประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย
ปรัชญาของโรงเรียน :ปัญฺญา ชีวิตํ วโรเจติ ( ปัญญา ชีวิตัง วิโรเจติ ) ปัญญาคือแสงสว่างแห่งชีวิต
คติพจน์ : เรียนดี กีฬาเด่น เน้นวินัย ใฝ่คุณธรรม
สีประจำโรงเรียน : น้ำเงิน – เหลือง ความหมายรวม การแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พัฒนาสติปัญญา ความรู้ความสามารถ ของผู้เรียนให้เป็นบุคคลที่มีความรู้และมีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ประพฤติตนถูกต้องเหมาะสม ให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน สามารถนำความรู้ความสามารถไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ มีความสมัครสมาน สามัคคี มีจิตสาธารณะ มีความมานะอดทนต่อปัญหาอุปสรรค รู้จักรับและรู้จักให้ นำไปสู่การเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ
ต้นไม้ประจำโรงเรียน : ต้นสะเดา
ปณิธานของโรงเรียน : รักศักดิ์ศรี รักชุมชน ครองตนอย่างพอเพียง
คำขวัญราชประชานุเคราะห์ : รักศักดิ์ศรี มีคุณธรรม นำวิชาการ สืบสานงานพระราชดำริ
เอกลักษณ์ : ยิ้มไหว้ ทักทายกัน
อัตลักษณ์ : มารยาทดี มีทักษะงานอาชีพ
|